จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับกระทรวง อว. โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและนวัตกรรมสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา โดยจังหวัดนครราชสีมาจะสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ได้รับถ่ายทอดจากมหาวิทยาลัยฯ และสถาบันฯ ในการพัฒนาจังหวัดต่อไป


.
นครราชสีมา : เมื่อวันอังคารที่ 16 มีนาคม 2564 จังหวัดนครราชสีมา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและนวัตกรรมสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ณ SUT-Co working Space อาคารสุรพัฒน์ 1 เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา โดย มทส. จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ สซ. จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านแสงซินโครตรอนที่เป็นประโยชน์ต่อจังหวัดนครราชสีมาเพื่อนำไปพัฒนาจังหวัด
.
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในด้านการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนและนวัตกรรม เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปได้เข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่โดยสะดวกและทั่วถึง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) “โคราชเมืองน่าอยู่ประชาชนมีความสุขมั่นคงยั่งยืน” และเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา คือ “ศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมและท่องเที่ยวของภูมิภาค นวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรม สังคมคุณภาพสูง”


.
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาศักยภาพ และยกระดับชุมชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้องค์ความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ ทรัพยากร รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งของมหาวิทยาลัย และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างชุมชน มหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างเป็นระบบ อันส่งผลสู่เศรษฐกิจ การจ้างงาน และความเข้มแข็งของสังคมไทยต่อไป” .
.

รองศาสตราจารย์ สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า “ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น หรือระดับจังหวัด ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่าง “แสงซินโครตรอน” ในการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ผลิตภัณฑ์ สินค้าและวัตถุดิบในชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลผลิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนได้ ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคตามเป้าหมายการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง”


.
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้มีโครงการนำร่องในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์โครงสร้างสามมิติของผ้าไหมไทย เพื่อพัฒนาและยกระดับสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติที่เป็นวัสดุท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทดแทนหน้ากากทางการแพทย์ และได้นำร่องถ่ายทอดเทคโนโลยีการทอผ้าไหมและการตัดเย็บให้แก่ชุมชนในอำเภอปักธงชัย และจะถ่ายทอดให้กับชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป

.