โคราชสกัดจับ...ยาบ้าล็อตใหญ่ 5 ล้านเม็ด ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวง

โคราชสกัดจับ…ยาบ้าล็อตใหญ่ 5 ล้านเม็ดก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวง

          เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 พล.ต.ท.ฐากูร นัทธีศรี ผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 3 พร้อมด้วย พล.ต.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ด่านสุวรรณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.ภ.3 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.ภ.จว.นครราชสีมา และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เสิงสาง ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา 4 คน พร้อมของกลางยาบ้า 5,200,000 เม็ด ตรวจยึดรถยนต์ 4 คัน มูลค่าการยึดทรัพย์ประมาณ 2,000,000 บาท

      เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนภูธรภาค 3 จับกุมผู้ต้องหากำลังลำเลียงขนยาบ้า จากประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามมาฝั่งจังหวัดนครพนม มุ่งหน้าสู่ภาคกลาง ก่อนที่จะสกัดจับได้ บริเวณบ้านโคกโจด ตำบลกุดโบสถ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา สามารถจับผู้ต้องหาได้ 4 ราย พร้อมรถรถยนต์ของกลาง 4 คัน ยาบ้า 5,200,000 เม็ด

ซึ่งเป็นการขยายผลมาจาก กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้อยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตอนนั้นสามารถยึดของกลางยาบ้าได้ 1.2 ล้านเม็ด

Appropriate Technology Matching Day 2024

กระทรวง อว. หนุน บพท. ร่วมกับเครือข่าย มรภ.และ มทร.ทั่วประเทศ จัดแสดงผลงานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เกือบ 2,300 ผลงาน จากภูมิปัญญานักวิจัยไทย ในงาน“Appropriate Technology Matching Day 2024” 4 ภูมิภาค ปูรากฐานสำคัญของการพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยี และขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวข้ามกับดักความยากจน ไปสู่ความมั่นคง-มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน 

       กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดนำเทคโนโลยีพร้อมใช้ จำนวน 2,289 ผลงาน ไปช่วยชุมชน โดยให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ขับเคลื่อนงานดังกล่าว โดยมีเป้าหมายในระยะถัดไปที่จะเปิดตัว Technology and Innovation Library ซึ่งจะเป็นระบบรวบรวมข้อมูลฝั่งชุมชนกับข้อมูลเทคโนโลยีพร้อมใช้ รวมทั้งข้อมูลนวัตกรชุมชนให้เกิดการขยายผลไปทั่วประเทศ

     ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9-24 พฤษภาคมนี้ บพท.จะร่วมกับเครือข่าย มรภ. 38 แห่งและเครือข่าย มทร. 9 แห่งทั่วประเทศ จัดแสดงผลงานการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพร้อมใช้ ใน 4 ภูมิภาค ภายใต้ชื่องาน “เทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน” หรือ “Appropriate Technology Matching Day 2024” ครอบคลุมทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง เพื่อให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้รับชมและนำไปต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

       โดยกำหนดจัดขึ้นครั้งแรกที่ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับครั้งที่ 2 โซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นที่โรงแรมดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ มุ่งเน้นการถ่ายทอดและจับคู่นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยคัดสรรมาจัดแสดงและเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มคนจนฐานราก เกษตรกร กลุ่มอาชีพ และผู้ประกอบในพื้นที่ ได้พบปะกับนักวิจัยของ 2 เครือข่ายมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มรภ.ในภาคอีสาน ทั้ง 11 แห่ง ได้แก่  มรภ.มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สกลนคร อุบลราชธานี  เลย อุดรธานี ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด และเครือข่าย มทร. 5 แห่ง ได้แก่        วิทยาเขต นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ สกลนคร และร้อยเอ็ด

        ภายในงานมีการแสดงเทคโนโลยีพร้อมใช้ 70 ผลงาน จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยมทร.และมรภ. ซึ่งมีการเชื่อมโยงการใช้งานจริงกับ 13 กลุ่มวิสาหกิจชุมชมและผู้ประกอบการในชุมชน ขณะที่มีผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ที่มีส่วนร่วมกันคิดค้นและประมวลองค์ความรู้ให้ตรงกับโจทย์ปัญหาและความต้องการที่เหมาะสมกับภูมิสังคมเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมจำนวนกว่า 400 คน  โดยประเภทของเทคโนโลยีพร้อมใช้ มีด้วยกันหลายประเภท อาทิ นวัตกรรมอาหารสัตว์ชุมชน จากเศษวัสดุการเกษตรที่เป็นฐานทรัพยากรในท้องถิ่น ระบบการนึ่งข้าวฮางประสิทธิภาพสูงด้วยไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวลเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกคุณภาพสูง เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเส้นไหมและการเตรียมเส้นไหม เครื่องผลิตเส้นไหมพุ่งแบบครบวงจร ระบบการบริหารจัดการน้ำแบบอัตโนมัติ ตู้ควบคุมอัตโนมัติสำหรับเกษตรแปลงใหญ่ รวมไปถึงกระบวนการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ฯลฯ ซึ่งจะกระตุ้นและจุดประกายความคิดให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้งเกิดการจับคู่นำเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 200 คู่นวัตกรรม ที่สามารถนำไปต่อยอด ตอบสนองความต้องการของชุมชน นำมาใช้จัดการปัญหาสำคัญในชุมชน หรือการสร้างโอกาสใหม่ในชุมชนหรือพื้นที่

         “งานเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน นอกเหนือจะมีขึ้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังจะมีขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 21 พฤษภาคม และในพื้นที่ภาคกลาง ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้” 

          ผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่า งานแสดงเทคโนโลยีพร้อมใช้ เพื่อชุมชนไทยยั่งยืน จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย จากภูมิปัญญาการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือ และมีกลไกกระบวนการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อนำสู่เป้าหมายการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ

งานแถลงข่าวเศรษฐกิจอีสานสัญจร ณ จ.นครราชสีมา ปี 2567

      วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมโคราช 2 โรงแรมเซ็นทารา จังหวัดนครราชสีมา ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานแถลงข่าวเศรษฐกิจภาคอีสาน ประจำไตรมาส 1 ปี 2567 หัวข้อ เหลียวหลัง…แลหน้า…เศรษฐกิจการเงินอีสาน

โดยเป็นการแถลงข่าวสัญจรครั้งแรก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ บทบาทหน้าที่ของ ธปท. ภาคอีสาน ได้แก่

1) จับชีพจรเศรษฐกิจการเงินในพื้นที่ รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 

2) สร้างองค์ความรู้วิชาการเพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่

3) ผลักดันนโยบาย ธปท. ให้กับพื้นที่

4) เป็นตัวกลางความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

5) สนับสนุนให้คนอีสานมีความรู้ทางด้านการเงินและเท่าทันภัยการเงิน โครงสร้างเศรษฐกิจภาคอีสาน

 

1) ภาคเกษตรเป็นเส้นเลือดหลักของคนอีสาน มีแรงงานในภาคนี้ถึงร้อยละ 53 ของผู้มีงานทำในภาคอีสาน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานเพียงร้อยละ 7

2) ภาคเกษตรส่วนใหญ่พึ่งฟ้าพึ่งฝน และความสามารถในการทำเกษตรลดลง 

3) รายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายในภาคครัวเรือน นำไปสู่ปัญหาหนี้ จากโครงสร้างดังกล่าวจึงทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานต่างจากประเทศ 

 

         ปี 2566 เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวจากการบริโภคและท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจภาคอีสานหดตัว ตามการบริโภคจากรายได้ที่ลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร หมดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง แม้การท่องเที่ยวฟื้นตัวแต่ช่วยสนับสนุนได้น้อยเพราะมีเพียงไม่เกินร้อยละ 3 ของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจภาคอีสาน โดยภาพรวมเศรษฐกิจ ไตรมาส 1 ปี 2567 อ่อนแรงต่อเนื่องจากปี 2566 จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐลดลง ค่าครองชีพในสินค้าหมวดอุปโภคบริโภคยังอยู่ในระดับสูง และตลาดแรงงานอ่อนแอลงจากผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรลดลง 

         นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณเปราะบางต่อเนื่องจากปี 2566 และกำลังซื้อมีความเปราะบางมากขึ้น ในหมวดสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถกระบะหดตัวสูง และยอดขายบ้านในระดับกลางและล่างลดลงต่อเนื่อง จากรายได้ที่ลดลง รวมทั้งความระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี มีปัจจัยช่วยพยุงการบริโภคได้บ้างจากผลของราคาผลผลิตเกษตรที่ดี และการท่องเที่ยวที่มีผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566

         ระยะถัดไป เศรษฐกิจภาคอีสานคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว จากงบประมาณภาครัฐปี 2567 ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้หลังไตรมาส 2 ทำให้ภาคการค้า การก่อสร้างตามการลงทุนของรัฐเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 รายได้เกษตรกระจายตัวมากขึ้นจากผลดีของภัยแล้งที่คลี่คลายในช่วงหลังของปี 2567 คาดว่าจะส่งผลดีต่อผลผลิตข้าว การผลิตเพื่อการส่งออกในหมวดอาหารแปรรูปและเครื่องแต่งกายมีแนวโน้มฟื้นตัวดี และการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ ๆ เข้ามากระจายหลายจังหวัดเพิ่มมากขึ้น

แห่พระคันธารราฐ​ ลอดซุ้มประตูชุมพล​ ลานอนุสาวรีย์​ท้าว​สุ​ร​นารี​ กลับวัดพระนารายณ์​มหาราช​วรวิหาร​ เนื่องในงาน “มหาสงกรานต์โคราช” ประจำปี ๒๕๖๗

วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

เปิดงานโดยนายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวรายงาน  นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย  นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา อ่านประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ

พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมขบวนแห่ จับผ้าเงิน ผ้าทอง ความยาว  ๕๕๖ เมตร ลอดประตูชุมพล  กลับไปยังวัดพระนารายณ์มหาราช

 

แถลงข่าวการจัดงานแห่พระลอดซุ้มประตูเมือง “ มหาสงกรานต์โคราช ” ประจำปี 2567

วันพุธที่ 10 เมษายน 2567 โดยมี นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานในพิธี ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา 

ขอเชิญชวนประชาชน และพี่น้องชาวโคราชทุกท่านร่วมงานแห่พระลอดซุ้มประตูเมือง ตั้งแต่เวลา  16.00 น.เป็นต้นไป 

วันที่ 12 เมษายน 2567 

– เวลา 09.00 น. ณ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร กิจกรรมการประกวดก่อเจดีย์ทราย

– เวลา 17.00 น. พิธีอัญเชิญพระคันธารราฐออกจากพระเจดีย์ และแห่อัญเชิญพระอันธาราฐเคลื่อนตามเส้นทางถนนจอมพลเลี้ยวซ้ายเข้าถนนชุมพล เลี้ยวขวาเข้าถนนมหาดไทย ถึงแยกถนนราชดำเนิน ไปลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี 

– เวลา 18.00 น.ณ ลานอนุสาวรีย์ท้านสุรนารี พิธีสมโภชพระคันธารราฐ สวดมนต์เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ สรงน้ำพระคันธารราฐ และเขียนคำอธิษฐานบนผ้าทองผ้าเงิน ฯลฯ

 15 เมษายน 2567

ชมกิจกรรมการประกวดรำวงย้อนยุค อุโมงค์น้ำพุ การแสดงดนตรีจากรายการชิงช้าสวรรค์ วงลำตะคอง และโรงเรียนมัธยมด่านขุนทด  

ณ  บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

พิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้เรื่องพิษภัยของกระท่อม ในเขตเทศบาลนครบครราชสีมา

พิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้เรื่องพิษภัยของกระท่อมในเขตเทศบาลนครบครราชสีมา

วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๗ ณ โรงแรมโคราชโฮเต็ล โดย นายประเสริฐ บุญขัยสุข นายกเทศมนตรีนครบครราชสีมา 

เรียน ท่านเทวัญ ลิปดพัลลก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้มีเกียรติทุกท่าน ในนามผู้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการสร้างการรับรู้เรื่องพิษภัยของกระท่อม ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา กระผมขอขอบพระคุณท่านที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ ในวันนี้

    จากพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ได้มีการยกเลิกการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่  โดยสามารถนำมาเป็นพืชเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ทำให้มีการประกอบการด้านพืชกระท่อมอย่างแพร่หลาย กอปรกับปัจจุบันการเข้าถึงกระท่อมของเด็ก เยาวชน และประชาชนมีแนโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมีการใช้น้ำต้มใบกระท่อมที่ไม่เหมาะสม มีการผสมสารต่างๆ เข้าไป ทำให้เกิดอาการหลอนทางจิตประสาท เกิดปัญหาต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางสุขภาพ ปัญทาทางสังคม สาเหตุหนึ่งเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องพืชกระท่อม เช่น กรณีน้ำต้มใบกระท่อมสามารถต้มดื่มทานเองที่บ้านได้แค่ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกให้กับบุคคลอื่น และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือการใช้น้ำต้มใบกระท่อม/ใบกระท่อมที่ไม่ถูกวิธี คือ การไม่เอาก้านออกแล้วนำไปต้มในอัตราส่วนที่ไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดพิษภัยจากกระท่อมตามมา

สำหรับเทศบาลนครนครราชสีมาได้ร่วมกับทีมบูรณาการของจังหวัดนครราชสีมาออกตรวจสถานประกอบจำหน่ายน้ำต้มใบกระท่อม เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และในวันนี้สำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนครราชสีมา ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้แก่แกนนำชุมชน และประชาชน จึงจัดการอบรมฯ ครั้งนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แกนนำด้านสุขภาพได้รับรู้และเข้าใจถึง พ.ร.บ.พืซกระท่อม รวมทั้งโทษพิษภัยจากการใช้กระท่อมที่ไม่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเฝ้าระวังและจัดการสุขภาพภาคประชาชนในชุมชนต่อไป

กิจกรรม เดิน วิ่ง ปั่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ครั้งที่ 9 ประจำปี 2567 TOUR OF KORAT #9

วันที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา  06.30 น. พลโท อดุลย์ บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม เดิน วิ่ง ปั่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ครั้งที่ 9 ประจำปี 2567  TOUR OF KORAT #9 ณ ตลาดน้ำบึงหัวทะเล ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา

พร้อมด้วย นายวัชรพล  โตมรศักดิ์  เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงสาธารณสุข  พลตรี อรรถชัย  รักษาศิลป์  ผู้บัญชาการมลฑลทหสนบกที่ 21 นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายวีระชาติ  ทุ่งไผ่เเหลม นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนาย เอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล และ นายชาญชัยบัวสรวง ประธานสโมสรกีฬาจักรยาน จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้กล่าวรายงานพร้อมด้วยคณะ

  กิจกรรม เดิน วิ่ง ปั่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ครั้งที่ 9 ประจำปี 2567  TOUR OF KORAT #9 มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อการกุศลจัดหารายได้สนับสนุนนักกีฬาตัวแทนจังหวัดสังกัดสโมสรกีฬาจักรยานจังหวัดนครราชสีมาร่วมแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนนักเรียนและประชาชนออกกำลังกายเดิน – วิ่ง – ปั่นเพื่อสุขภาพและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อรำลึกเชิดชูวีรกรรมท้าวสุรนารีให้บุคคลทั่วไปร่วมกิจกรรมงานเที่ยวฉลองชัยชนะท้าวสุรนารีประจำปี เพื่อส่งเสริมกิจกรรมกีฬาเชิญชวนนักวิ่ง-ปั่น

ผู้สนใจร่วมการท่องเที่ยวงานประจำปีฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี ปี 2567 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ประกอบไปด้วย การแข่งขันเดิน – วิ่ง ระยะทาง 5 และ 10 กิโลเมตร  การแข่งขันจักรยานทางเรียบ 14 และ 60 กิโลเมตร มีการประกวดแฟนตาซี และ กิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมสุขภาพ

ที่ทางเทศบาลตำบลหัวทะเลได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสาธารณสุขกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อตรวจและคัดกรองสุขภาพภายในงาน  ทั้งนี้ กิจกรรม เดิน วิ่ง ปั่น ฉลองวันแห่ชัยชนะท้าวสุรนารี ครั้งที่ 9 ประจำปี 2567  TOUR OF KORAT #9 มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,600 คน

สมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรม สื่อสร้างสรรค์ เสียงเพลงสร้างสุข ครั้งที่ 2

สมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรม สื่อสร้างสรรค์ เสียงเพลงสร้างสุข ครั้งที่ 2

วันที่ 5 มี.ค.67 ที่ลานวาไรตี้ฮอลล์ เดอะมอลล์โคราช นายสมเกียรติ วิยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดกิจกรรม สื่อสร้างสรรค์ เสียงเพลงสร้างสุข ครั้งที่ 2 เนื่องในวันนักข่าว 5 มีนาคม 2567

โดยมีนายไพฑูรย์ มนุญพงศ์พันธุ์ นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงาน ร่วมด้วยนางเอมอร ศรีกงพาน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา นายปรีชา ลิ้มอั่ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ เดอะมอลล์ราชสีมา โดยการจัดกิจกรรม สื่อสร้างสรรค์ เสียงเพลงสร้างสุข ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเนื่องในวันนักข่าว 5 มีนาคม ประจำปี 2567 

วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ก่อตั้งโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2498 และนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมัยนั้นคือ นายโชติ มณีน้อย เป็นนักข่าวรุ่นบุกเบิก ทำให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรตินักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่และรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดี รวมทั้ง ให้นักข่าวได้ตระหนักถึงบทบาทที่มีต่อสังคม และได้ร่วมพบปะพี่น้องสื่อมวลชนในแต่ละแขนง ทั้ง หนังสือพิมพ์, วิทยุ, ทีวี, สื่อออนไลน์ต่าง ๆ และรำลึกถึงพี่น้องนักข่าว ที่ล่วงลับไปแล้ว และด้วยสมาคมนักข่าวจังหวัดนครราชสีมา ได้ครบวาระ 38 ปี ในวาระนี้ สมาคมนักข่าวฯ ได้ร่วมกับสภาวัฒนธรรมฯ จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ สื่อสร้างสรรค์ เสียงเพลงสร้างสุข ครั้งที่ 2 โดยเป็นการประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง เยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี และรุ่นอายุระหว่าง 15-30 ปี ด้วยการขับร้องเพลง ช้า และเร็ว โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์วิภารัตน์ แก้ววิเศษ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวด และมีผู้ที่เข้าประกวด รุ่นละ 25 คน รวมทั้งสิ้น 50

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการมอบโล่เชิดชูเกียรติ ในสาขา สื่อมวลชนดีเด่น , ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น , นักธุรกิจดีเด่น และ บุคคลดีเด่น ประเภท สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้ง ผู้สนับสนุนกิจกรรมในวันนี้ โดยมี น.ส.ทิวาพร แสนเมืองชิน เลขานุการกรม กรมประชาสัมพันธ์ อดีตประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา เข้ารับรางวัลสาขาสื่อมวลชนดีเด่นในครั้งนี้ด้วย

โคราชประกอบพิธีตักบาตรพระสงฆ์10,000 รูป ทำบุญเมืองครบรอบ 556 ปี

โคราชประกอบพิธีตักบาตรพระสงฆ์10,000 รูป ทำบุญเมืองครบรอบ 556 ปี

วันนี้ (2 มี.ค.67) เวลา 06.00 น. ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา  พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสบึง พระอารามหลวง ประธานสงฆ์ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานฝ่ายฆราวาสและพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา นับหมื่นคน  ร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ 10,000 รูป สมโภชเมืองนครราชสีมา 556 ปี

ถวายเป็นพุทธบูชา น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้สถาปนาเมืองนครราชสีมา และอุทิศส่วนกุศลแด่ท้าวสุรนารี วีรสตรีเมืองโคราช 

ภายในงานพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันกล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ อาราธนาศีล 5 บำเพ็ญทักษิณานุปทาน ทอดผ้าบังสุกุล คณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สมโภชเมืองนครราชสีมา จากนั้นเป็นพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 10,000 รูป

เพื่อนำข้าวสารอาหารแห้งที่ได้จากการบิณฑบาตในครั้งนี้ไปบรรเทาความเดือดร้อนของคณะสงฆ์ 323 วัดใน 4 จังหวัดภาคใต้ พร้อมทั้งช่วยเหลือครูและทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้ และมอบช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยต่างๆ เป็นสาธารณะสงเคราะห์ 

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเปิดเผยว่า งานตักบาตรพระหมื่นรูป ทำบุญเมืองนครราชสีมา เป็นการปลูกฝังคุณธรรม ความกตัญญูแก่เยาวชนลูกหลานชาวโคราช เป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา รักษาประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ

อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา ผมขอกราบขอบพระคุณคณะสงฆ์ทุกรูปที่เมตตามาเป็นเนื้อนาบุญ ขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่าย เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนในการจัดงานครั้งนี้ ขออนุโมทนาบุญกับผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่ทำให้เกิดภาพประวัติศาสตร์ที่งดงามของจังหวัดนครราชสีมาในวันนี้

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาคนพิการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก รายการ 2023 WORLD ABILITYSPORT GAMES

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาคนพิการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก รายการ 2023 WORLD ABILITYSPORT GAMES

พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาคนพิการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก รายการ 2023 WORLD ABILITYSPORT GAMES

ณ หอประชุมเอนกประสงค์ สนาม 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จังหวัดนครราชสีมา

ค่ำวันนี้ (3 ธ.ค.66) เวลา 18.00 น. นายกิตติ เชาว์ดี  เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิด  มีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวต้อนรับคณะนักกีฬา ทั้ง 50 ชาติที่เข้าร่วมมหกรรมกีฬาคนพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก 2023 WORLD ABILITYSPORT GAME ซึ่งจัดขึ้น ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1-9 ธันวาคม 2566

โดยจัดการแข่งขันจำนวน 11 ชนิดกีฬาหลัก ประกอบด้วย กรีฑา ว่ายน้ำ ยิงธนู ยิงปืน แบดมินตัน จักรยาน วีลแชร์ฟันดาบ เทเบิลเทนนิส  ยกน้ำหนัก สนุกเกอร์ เรือพาย และ 4 ชนิดกีฬาสาธิต ประกอบด้วย เปตอง ตะกร้อ อีสปอร์ต และเรือแคนู

ขอเชิญผู้ที่สนใจร่วมชมร่วมเชียร์นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย

มหกรรมกีฬาอันยิ่งใหญ่กีฬาคนพิการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวโลก “2023 World Abilitysport Games” ระหว่างวันที่ 1-9 ธันวาคม 2566 โดยมีประเทศเข้าร่วมทั้งหมด 50 ประเทศ ชนิดกีฬาทั้งหมด 10 กีฬาหลัก และ 3 กีฬาสาธิต ณ จังหวัดนครราชสีมา  เป็นการแข่งขันรายการสุดท้ายของหลายชนิดกีฬาสำหรับการ Qualifcation เพื่อให้นักกีฬาคนพิการ ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน ในมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกส์เกม 2024  ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย จะใช้โอกาสนี้สร้างผลงานคว้ารางวัล เพื่อให้ได้สิทธิ์ดังกล่าว 

กีฬาหลัก 10 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย

1.กีฬากรีฑา และ วีลแชร์เรสซิ่ง  

2.กีฬายิงธนู 

3.กีฬาจักรยาน 

4.กีฬาวีลแชร์ฟันดาบ 

5.กีฬายิงปืน 

6.กีฬาว่ายน้ำ 

7.กีฬาแบดมินตัน

8.กีฬายกน้ำหนัก  

9.กีฬาสนุกเกอร์ 

10.กีฬาเทเบิลเทนนิส

และกีฬาสาธิต 3 ชนิด ได้แก่

1.กีฬาเปตอง 

2.กีฬาตะกร้อ 

3.กีฬาอีสปอร์ต

สำหรับมหกรรมกีฬาคนพิการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก World ability sports games 2023  จะแข่งขันกัน ในระหว่างวันที่ 1-9 ธันวาคม 2566 แบ่งเป็น 5 สนาม ประกอบด้วย 

1.สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จังหวัดนครราชสีมา , ประกอบด้วย กีฬากรีฑา ยิงปืน จักรยาน วีลแชร์ฟันดาบ ว่ายน้ำ ยิงธนู ตะกร้อ และเปตอง

2.ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล , ประกอบด้วย กีฬาเทเบิลเทนนิส และ E-Sport

3.โรงแรมเซนทารา โคราช , ประกอบด้วย สนุกเกอร์ และ กองอำนวยการ

4.ห้างสรรพสินค้า Terminal 21, ประกอบด้วย กีฬาแบดมินตัน

5.โรงแรม Centre Point Hotel Terminal 21 ประกอบด้วย กีฬายกน้ำหนัก